สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

หมุดจัดฟัน

บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"

จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

หมุดจัดฟัน

รศ.ทพ.ไพบูลย์ เตชะเลิศไพศาล

                ในอดีตงานทันตกรรมจัดฟันมีข้อจำกัดในการเคลื่อนฟันพอสมควร เนื่องจากในการเคลื่อนฟันซี่หนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งไป มักต้องใช้ฟันหรือกลุ่มฟันในทิศทางตรงข้ามเป็นหลักยึด เช่น ในการดึงฟันหน้าบนไปทางด้านลิ้น ต้องใช้ฟันหลังบนเป็นหลักยึด และมักพบการเคลื่อนตัวของฟันหลังมาทางด้านหน้าด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนฟันหน้ามาทางด้านลิ้นได้มากเท่าที่ต้องการ ภายหลังการรักษาอาจไม่สามารถลดความยื่นของฟันให้ได้มากเท่าที่ควร ซึ่งกรณีที่ต้องการเคลื่อนฟันไปทางด้านลิ้นมากนี้ ต้องให้ผู้ป่วยใช้เครื่องมือที่ใช้หลักยึดจากบริเวณศีรษะจำพวกเฮดเกียร์ เป็นต้น แต่เครื่องมือเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือในการใช้ในระยะเวลาที่มากเพียงพอ และหากผู้ป่วยไม่ใส่ก็จะไม่สามารถเคลื่อนฟันได้ขนาดตามที่ต้องการ

                เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว ราวปลายทศวาษที่ 1990s ได้มีการพัฒนาการใช้หมุดจัดฟันขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2-1.6 มม. ยาว 6-10 มม. ทำจากโลหะผสมไททาเนียมที่มีความเข้ากันทางชีวภาพกับร่างกายมนุษย์ ฝังเข้าไปในกระดูกเบ้าฟันระหว่างรากฟันกรามน้อยซี่ที่สองและฟันกรามแท้ซี่แรก ทางด้านแก้มหรือทางด้านลิ้น จากนั้นจะทำการเคลื่อนฟันด้วยแรงดึงจากลวดจัดฟัน ระหว่างหมุดจัดฟันและฟันที่ต้องการให้เคลื่อน โดยหมุดจัดฟันจะไม่เกิดการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถเคลื่อนฟันได้ขนาดและทิศทางตามที่ต้องการโดยไม่ม่ข้อจำกัดอย่างเช่นการรักษาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการกดฟันกรามบนที่ไม่มีคู่สบที่ยื่นยาวให้เข้าสู่แนวการบดเคี้ยว การตั้งฟันที่ล้มมาก    เป็นต้น การใช้หมุดจัดฟันเพื่อเป็นหลักยึดจึงทำให้การรักษาทันตกรรมจัดฟันได้ประสิทธิผลที่ดีขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาน้อยลง สามารถให้การรักษาทันตกรรมจัดฟันที่ยุ่งยากได้ดียิ่งขึ้น

                สำหรับการใส่หมุดจัดฟันเป็นหลักยึดนั้น ทันตแพทย์จะฉีดยาชาในตำแหน่งที่จะปักหมุด ถ่ายเอกซเรย์ตรวจสอบการวางตำแหน่งเพื่อป้องกันอันตรายต่อฟัน หลังปักแล้วสามารถใช้เป็นหลักยึดในการเคลื่อนฟันได้ทันทีอาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นภายหลังจากยาชาหมดฤทธิ์แล้ว สามารถรับประทานยาลดอาการปววดได้ ผู้ป่วยควรจะทำความสะอาดให้ดี เพื่อป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบหมุดจัดฟัน และลดโอกาศที่หมุดจัดฟันจะขยับหรือหลุดออกในระหว่างการจัดฟัน

บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง

view