สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

แปรงแห้ง...ปลอดภัย

บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"

จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

แปรงฟันแห้ง ปลอดภัย

ศ.ทพญ.ดร.สุดาดวง กฤษฎาพงษ์

                แปรงแห้ง หมายถึง เมื่อแปรงฟัน(ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์)เสร็จ ก็แค่ถุยฟองทิ้ง ไม่ต้องบ้วนน้ำตาม (หรือเพียงแค่ 1 จิบเล็ก) บางท่านอาจมีความกังวลด้านความปลอดภัยหากกินคราบยาสีฟันที่ตกค้างเข้าไป สารเคมีที่สร้างความกังวลมากที่สุด คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิว สร้างฟอง นิยมใช้ในเครื่องสำอางชนิดต่างๆ

             การกลืนคราบยาสีฟันที่หลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด องค์กรนานาชาติยืนยันชัดเจน โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ดีที่สุดว่าส่วนประกอบทุกอย่างที่อนุญาตให้ใส่ในยาสีฟันไม่ใช่สารก่อมะเร็ง ปริมาณที่ใส่ถูกกำหนดไว้ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยคำนวณเผื่อการพลาดพลั้งเผลอกินเข้าไป ข้อกำหนดของประเทศไทยอ้างอิงตามนานาชาติได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน แหล่งที่มาที่สำคัญของข้อกำหนดของประเทศต่างๆ คือ US Cosmetic Ingredient Review (CIR) ที่เป็นองค์กรอิสระ เป็นกลาง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทำหน้าที่ประเมินความปลอดภัยของส่วนประกอบทุกชนิดที่ใส่ในเครื่องสำอาง CIR ประเมินความปลอดภัยของ SLS ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 แล้วทบทวนอีกครั้งในปี   ค.ศ.2002 หลังจากมีข่าวลือในอินเทอร์เน็ตถึงอันตรายของ SLS ผลการทบทวนในปี ค.ศ.2002 ยืนยันตามข้อสรุปเดิม

             SLS ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง งานวิจัยในปัจจุบันยังคงยืนยันถึงความปลอดภัยของ SLS ที่ใช้ตามปริมาณที่กำหนด อันตรายจากการบริโภค SLS ไม่ได้เกิดจากลักษณะการใช้ผลิตภัณฑ์ตามปกติ แต่เป็นการบริโภคเข้าไปในปริมาณมากที่เป็นอุบัติเหตุ เช่น กรณีของเด็กเล็ก ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น ปริมาณ SLS ที่ใส่ในเครื่องสำอางได้ถูกกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 15% สำหรับเครื่องสำอางโดยทั่วไห (เช่น สบู่ แชมพู) แต่ในยาสีฟันนั้นมีเพียง 0.5-2% เท่านั้น (โดยเฉลี่ย 1.5%) จะเห็นว่าในยาสีฟันมีปริมาณของ SLS น้อยมาก หากบริโภคยาสีฟันเข้าไปมากกว่า 3 กิโลกรัม หรือบริโภคสะสมต่อเนื่องทุกวัน วันละครึ่งกิโลกรัมจึงอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของ SLS จึงสรุปว่า การนำ SLS มาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด

             SLS ยังเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของน้ำยาบ้วนปาก ดังนั้นการแปรงแห้งโดยไม่บ้วนน้ำตาม จึงไม่ได้แตกต่างไปจากการใช้น้ำยาบ้วนปากซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้บ้วนน้ำตามนั่นเอง

             สำหรับอันตรายที่อาจเกิดจากการแพ้และระคายเคืองในช่องปาก พบว่า SLS ทำให้เกิดการแพ้ได้หากมีความเข้มข้นมากกว่า 2 % และทาทิ้งไว้เป็นเวลานาน(มากกว่า 1 ชม.) ยาสีฟันมี SLS ไม่เกิน 2% และถูกเจือจางเมื่อผสมกับน้ำลายหลังจากแปรงเสร็จแล้วยาสีฟันส่วนใหญ่จะถูกถุยทิ้งไปคราบที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยจะถูกชะล้างอย่างต่อเนื่องโดยน้ำลาย จึงไม่สร้างความกังวลว่า SLS จะทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองในช่องปาก อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวไม่รวมอาการแพ้เฉพาะคน ที่อาจแพ้ SLS หรือสารเคมีอื่นในยาสีฟัน ซึ่งผู้แพ้สารใดๆ ควรอ่านฉลากและหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนั้นๆ

             CIR ระบุว่าความกังวลเรื่องอันตรายของ SLS มาจาก Internet hoax (เรื่องหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต)ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์บางประเภท สังเกตได้ว่าการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่กล่าวอ้างถึงอันตรายของ SLS ล้วนเป็นข้อมูลจากภาคธุรกิจทั้งสิ้น และเป็นข้อมูลที่ปรากฏออกมาก่อนข้อมูลจากหน่วยงานทางราชการ ดังนั้น ผู้ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตควรที่จะต้องดูแหล่งที่มาของข้อมูล เลือกข้อมูลจากองค์กรทางการที่น่าเชื่อถือ ถึงแม้ว่าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจเปลี่ยนไปในอนาคต แต่ข้อมูลด้านวิชาการที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

               

ความกังวลเรื่องสารเคมีในคราบยาสีฟันตกค้างหมดไป หันมาแปรงแห้งกันเถอะ


ลิ้งก์บทความที่เกี่ยวข้อง แปรงแห้ง..กันเถอะ

บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง

 

 

Tags : แปรงแห้ง ทำฟัน

view