สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างไร

บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"

จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างไร

ผศ.ทพญ.ดร.ฑัณฑริรา พรทวีทัศน์

                ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้หลายวิธี สามารถไปรวมกับผิวเคลือบฟัน ช่วยเสริมสร้างให้โครงสร้างฟันแข็งแรง ต้านทานต่อการละลายแร่ธาตุจากกรด หากฟันเริ่มผุแล้ว ฟลูออไรด์จะไปช่วยยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟันและส่งเสริมการสะสมแร่ธาตุคืนกลับบนผิวฟัน ช่วยชะลอความรุนแรงของฟันผุ เมื่อได้รับฟลูออไรด์ปริมาณสูงจะมีการสร้างชั้นแคลเซียมฟลูออไรด์เคลือบบนผิวฟัน เพื่อทดแทนการสลายของแร่ธาตุจากผิวฟัน นอกจากนี้ฟลูออไรด์ยังช่วยลดความสามารถในการสร้างกรดของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ

                การได้รับฟลูออไรด์เสริมเพื่อป้องกันฟันผุในเด็กแบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ  ได้แก่

1 ได้รับโดยการกิน  อาทิ ยาเม็ด หรือยาน้ำฟลูออไรด์ อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ หวังผลให้ฟลูออไรด์ดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลต่อฟันที่ยังไม่ขึ้นในช่องปาก

2 ได้รับเฉพาะที่มี่ผลต่อฟันที่ขึ้นมาในช่องปากแล้ว อาที ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์ และฟลูออไรด์ชนิดทาหรือเคลือบโดยทันตแพทย์

                การรับประทานฟลูออไรด์เสริมชนิดเม็ดควรให้เด็กอมให้ละลายช้าๆในปาก พยายามให้ฟลูออไรด์เม็ดสัมผัสกับฟันทุกซี่ก่อนกลืนเพื่อป้องกันฟันผุแก่ฟันที่ขึ้นแล้ว ขณะที่ฟลูออไรด์ส่วนที่กลืนจะดูดซึมเข้ากระแสเลือดเสริมสร้างความแข็งแรงต่อฟันที่ยังไม่ขึ้นในช่องปาก เด็กควรรับประทานฟลูออไรด์เม็ดในช่วงที่ห่างจากการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และหลังจากรับประทานฟลูออไรด์เม็ดไม่ควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากนานและเกิดประสิทธิภาพป้องกันฟันผุสูงสุด

                ในเด็กที่รับประทานยาเม็ดไม่ได้ ให้ใช้ชนิดน้ำหยดเข้าปากโดยตรง หรือใช้ชนิดเม็ดบดให้ละลายน้ำก่อนรับประทาน เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 16 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุสูงและได้รับฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ ซึ่งควรได้รับฟลูออไรด์เสริมอย่างต่อเนื่อง โดยความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่เหมาะสมต่อเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไปตามสภาพช่องปาก อายุ น้ำหนัก และปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากแหล่งอื่น อาทิ ยาสีฟัน น้ำดื่ม นม และอาหาร ทั้งนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อพิจารณาความเสี่ยงฟันผุของเด็ก เพื่อกำหนดปริมาณและระยะเวลาที่เด็กควรได้รับฟลูออไรด์เสริม

 

บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง

view