สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ

บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"

จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ

ทพญ.ดร.ศิริพร ส่งศิริประดับบุญ

     “ฟลูออไรด์” คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นักรบป้องกันฟันผุ” เพราะสามารถช่วยปกป้องผิวฟันไม่ให้เกิดรอยผุได้อย่างดีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

     กรดที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล จะละลายแคลเซียมและฟอสเฟตออกจากผิวฟัน หากฟันสูญเสียแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลักเหล่านี้ออกไปมาก ฟันจะไม่แข็งแรงและเกิดเป็นรูผุในที่สุด แต่หากในปากมีฟลูออไรด์อยู่เพียงพอ ฟลูออไรด์จะช่วยชะลอการสูญเสียแคลเซียมและฟอสเฟต และช่วยซ่อมแซมผิวฟันส่วนที่สึกหรอ โดยกระตุ้นให้แคลเซียมและฟอสเฟตในน้ำลายกลับเข้ามาสะสมในผิวฟันมากขึ้น ทำให้ฟันแข็งแรงเพิ่มขึ้น

     หลายท่านอาจจะเคยสงสัยว่าเรมทจะได้รับฟลูออไรด์จากทางไหนได้บ้าง และทุกวันนี้เราได้รับเพียงพอแล้วหรือยัง? การใช้ฟลูออไรด์มีอยู่ 2 รูปแบบ คือฟลูออไรด์ที่ทันตแพทย์จ่ายให้ เช่น เคลือบฟลูออไรด์ที่คลินิกทันตกรรม ฟลูออไรด์เม็ด เป็นต้น และฟลูออไรด์ที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน เช่น ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เป็นต้น

     โดยทั่วไปจะแนะนำให้ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1,000 ppm เป็นประจำวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและก่อนเข้านอน โดยบีบยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงอายุ คือ เด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ ให้แตะยาสีฟันพอชื้นหรือบีบปริมาณเท่าเมล็ดข้าว ส่วนเด็กอายุ 3-6 ขวบ ให้บีบตามแนวขวางของแปรงหรือประมาณเท่าเมล็ดข้าวโพด และในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ให้บีบยาสีฟันเต็มความยาวของหน้าตัดแปรง

     เทคนิคสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฟลูออไรด์ในยาสีฟัน คือ ควรแปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที และบ้วนน้ำให้น้อยที่สุดภายหลังการแปรงฟัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำภายหลังการแปรงฟันให้ได้นานที่สุด เพื่อยืดระยะเวลาให้ฟลูออไรด์อยู่ในช่องปากให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

     ข้อควรระวังอย่างหนึ่ง คือ ในเด็กเล็กที่ยังควบคุมการกลืนได้ไม่ดี ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฟองยาสีฟันออกให้หมดและระมัดระวังไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟันหรือให้เกินขนาดที่แนะนำ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ส่วนในเด็กหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคฟันผุได้ง่าย เช่น ผู้ที่ติดเครื่องมือจัดฟัน อาจจำเป็นต้องได้รับฟลูออไรด์เพิ่มเติมในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ในกรณีเหล่านี้ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะ 

บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง,ผ่าฟันคุด

view