บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"
จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ปรอทในอะมัลกัม
ผศ.ทพญ.ดร.รังสิมา สกุลณะมรรคา
ปัจจุบันประชาชนสนใจเรื่องสารพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากอย่างกว้างขวาง ปรอทเป็นสารพิษที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากปรอทเป็นส่วนประกอบของวัสดุบูรณะฟันอะมัลกัมที่ใช้กันมานานกว่า 100 ปี
อะมัลกัมเป็นวัสดุบูรณะฟันที่เป็นโลหะสีเงิน ประกอบด้วย เงิน ดีบุก ทองแดง สังกะสี และปรอท ซึ่งมีข้อดีหลายประการ คือ ราคาถูก ใช้งานง่าย แข็งแรง ทนทาน และมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ด้วย จึงทำให้อะมัลกัมได้รับการยอมรับและใช้บูรณะฟันมานานกว่า 100 ปี อย่างไรก็ตาม อะมัลกัมก็มีข้อด้อย คือ ไม่สวยไม่เหมือนฟันธรรมชาติ ระยะหลังจึงถูกจำกัดการใช้งาน เนื่องจากการมีปรอทเป็นส่วนประกอบ ทำให้ประชาชนกังวลเรื่องความเป็นพิษของปรอทต่อสุขภาพและต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าปรอทเป็นสารที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา และแม้แต่ในอาหารที่รับประทาน ในแต่ละปีปรอทและและสารประกอบของปรอท 2,700-6,000 ตัน ถูกปล่อยจากมหาสมุทรและเปลือกโลกสู่บรรยากาศ และยังมีปรอทอีก 2,000-3,000 ตัน ที่ถูกปล่อยจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาถ่านหินหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ปรอทในบางรูปแบบพบในปลาและอาหารทะเล ซึ่งสามารถทำให้เกิดสารพิษต่อร่างกาย หากร่างกายได้รับปรอทดังกล่าววันละ 5 จะสามารถทำให้เกิดโรคมินามาตะได้
สำหรับปรอทที่พบจากทางทันตกรรมอยู่ในรูปของไอปรอทและปรอทไอออน เมื่อหายใจไอปรอทเข้าไปประมาณร้อยละ 75 จะถูกดูดซึมที่ปอด ส่วนปรอทไอออนจะผ่านไปทางน้ำลาย การดูดซึมในระบบทางเดินอาหารและการผ่านเข้าร่างกายทางผิวหนังเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ปรอทที่ร่างกายได้รับไม่ได้สะสมอยู่ในร่างกายตลอดไป ปริมาณปรอทจะลดลงครึ่งหนึ่งในเวลาประมาณ 55 วัน โดยจะถูกขับออกทางปัสสาวะ การหายใจออก รวมทั้งหลั่งออกมาในน้ำลายและน้ำดี
แต่อันตรายที่อาจเกิดได้จากการใช้อะมัลกัม คือ การแพ้อะมัลกัม ซึ่งพบไม่บ่อยนัก โดยจะพบเป็นแผลแดงหรือมีร่างแหสีขาวที่เนื้อเยื่อในช่องปากใกล้กับตำแหน่งที่บูรณะฟันด้วยอะมัลกัม อาการแพ้จะดีขึ้นเองเมื่อรื้ออะมัลกัมออกและบูรณะด้วยวัสดุชนิดอื่น
ส่วนที่มีการตั้งคำถามหรือกล่าวอ้างถึงพิษของปรอทในอะมัลกัมต่อผู้ป่วยที่มีอะมัลกัมในช่องปากนั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือเอกสารงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันถึงพิษภัยดังกล่าว และการใช้อะมัลกัมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการบูรณะฟันที่แข็งแรง ทนทาน และราคาไม่สูง
บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง