บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"
จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ภัยแฝงของโรคปริทันต์
ศ.ทพ.ดร.ประสิทธิ์ ภวสันต์
คนไทยกว่า 80% มีอาการของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ สาเหตุเริ่มจากการที่มีเชื้อโรคมาอาศัยบนผิวฟัน และกระตุ้นให้เกิดภาวการณ์อักเสบของเหงือก เกิดเป็นโรคเหงือก ซึ่งจะพบลักษณะของเหงือกที่มีสีแดงช้ำ และมีเลือดออกได้ง่าย หากการอักเสบลุกลามไปถึงอวัยวะรอบรากฟัน เช่น เนื้อเยื่อเอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน รอยโรคก็จะพัฒนาไปเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งจะพบการทำลายของเนื้อเยื่อปริทันต์ ทำให้ฟันโยก เป็นหนอง และเกิดการสูญเสียฟันในที่สุด
ในช่องปากของเรามีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เชื้อเหล่านี้จะเกาะและเจริญเติบโตอยู่บนผิวฟันเกิดเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งหากไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้อง แผ่นคราบนี้ก็จะหนาตัวขึ้น และจะเริ่มมีการสะสมของแคลเซียมอิออน เกิดเป็นหินน้ำลาย ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อโรคที่มารวมตัวกันอยู่เป็นจำนวนมาก
การรวมตัวกันของเชื้อก่อโรคเหล่านี้ในช่องปากไมได้ทำให้เกิดโรคขึ่นในทันที แต่จตะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่ออย่างเรื้อรัง และทำให้ถุกทำลายอย่างต่อเนื่องช้าๆ ซึ่งกว่าที่เราจะเห็นผลของการทำลายของเนื้อเยื่อ ก็อาจใช้เวลานานหลายเดือน ดังนั้น วิธีการดีที่สุดในการรักษาสุขภาพช่องปาก คือ การป้องกันการรวมตัวของเชื้อเหล่านี้ โดยการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอทุกวัน รวมทั้งไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะหากไปพบทันตแพทย์เมื่อเกิดอาการของโรคแล้ว นั่นหมายความว่าเนื้อเยื่อในช่องปากของเราถูกทำลายและมีการลุกลามของโรคไปมากแล้ว
ผลเสียของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ในปาก คือ ปวด มีเลือดออก ฟันโยก และมีกลิ่นปาก แต่สิ่งที่เราควรทราบคือโรคปริทันต์มีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายด้วย โดยมีหลักฐานแสดงอย่างชัดเจนว่าการเกิดโรคปริทันต์เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งเกี่ยวพันกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งในช่องปาก และยังพบว่าสามารถทำให้เกิดผลเสียกับการตั้งครรภ์ อันนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดของทารกในครรภ์ได้ด้วย ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ สนับสนุนว่าสุขภาพช่องปากนั้นสัมพันธ์กับระบบต่างๆในร่างกาย
เนื่องจากเชื้อก่อโรคที่เป็นสาเหตุโรคปริทันต์นั้นมีโครงสร้างของโปรตีนบางส่วนคล้ายกับโปรตีนของร่างกาย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (antibody) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบการทำงานของหลอดเลือดหัวใจและลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยโรคปริทันต์มีโอกาสที่จะเกิดโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบการสะสมของเชื้อก่อโรคปริทันต์ที่บริเวณของผนังหลอดเลือดที่หนาตัวขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการอุดตันของหลอดเลือด (atherosclerosis) ด้วย การที่เราพบเชื้อก่อโรคเหล่านี้ในกระแสเลือดของร่างกาย แสดงว่าเชื้อก่อโรคปริทันต์สามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ โดยน่าจะผ่านเข้าทางผนังหลอดเลือดที่ฉีกขาดในบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ และไปรวมตัวกันบนผนังหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดการหนาตัวอละอุดตันของหลอดเลือด
เชื้อที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดนี้ยังสามารถไปเจริญเติบโตบนผนังของรกได้ด้วย โดยเฉพาะเชื้อที่ชื่อว่า Fuscobacterium nucleatum ที่พบว่ามีความสามารถในการเคลื่อนตัวผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์ของผนังหลอดเลือด ออกมาเจริญเติบโตบนผิวของเนื้อเยื่อรก ก่อให้เกิดการอักเสบของรก และนำไปสู่การคลอดของทารกก่อนกำหนด
แอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคปริทันต์ยังถูกตรวจพบได้ในผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมทั้งการใช้แอนติบอดีต่อการอักเสบเพื่อการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะให้ผลไม่ดีถ้าผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งรายงานเหล่านี้สนับสนุนความสัมพันธ์ของโรคทั้งสองนี้
ผลตามของโรคปริทันต์อีกประการหนึ่ง คือ การที่เชื้อก่อโรคสามารถกระตุ้นการหลั่งสารอักเสบออกมาจำนวนมาก ซึ่งผลของสารเหล่านี้จะทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากมีความวัยต่อปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งในช่องปากมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่าการปล่อยให้เกิดโรคปริทันต์ในช่องปากอาจส่งผลเสียต่อระบบอื่นๆในร่างกายได้ ดังนั้นการละเลยสุขภาพในช่องปากจึงอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าที่เราคิดได้
บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง