บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"
จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ทำรากเทียมดีหรือไม่
รศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์
รากเทียมเป็นวัสดุรูปร่างคล้ายรากฟัน และใส่เข้าไปในกระดูกขากรรไกรเพื่อทดแทนรากฟันที่หายไป โดยทั่วไปวัสดุที่นำมาทำคือ “ไททาเนียม” ซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับร่างกายเป็นอย่างดี โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านจากกร่างกาย ซึ่งไททาเนียมมักถูกนำมาใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย เช่น ข้อเข่า หรือข้อสะโพก เป็นต้น
ถึงแม้ว่ารากเทียมมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับข้อเข่า หรือข้อสะโพก แต่ค่าใช้จ่ายในการใส่รากเทียมยังค่อนข้างสูง ทั้งนี้เป็นเพราะรากเทียมมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปร่าง ลักษณะเกลียว หรือพื้นผิวของมัน เพื่อมุ่งหวังให้รากเทียมมีการยึดติดกับกระดูกที่ดี เร็ว และเมื่อได้รับการต่อฟัน ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้งานได้อย่างยาวนานถ้าให้การดูแลสุขภาพช่องปาก และรากเทียมอย่างเหมาะสม
เมื่อผู้ป่วยมีรากเทียมอยู่ในช่องปากแล้ว มักจะเกิดข้อสงสัยว่ารากเทียมมีการหมดอายุการใช้งานหรือไม่ และจะใช้เคี้ยวอาหารได้หรือไม่ จริงๆแล้ว รากเทียมก็เสมือนกับฟันของเราที่ไม่มีอายุการใช้งาน มันควรจะอยู่กับเราได้ตลอดชีวิตถ้าเราดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างถูกต้อง โดยทั้งฟันและรากเทียมก็ต้องการการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง รากเทียมจะสามารถใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติ และไม่มีข้อห้ามในการใช้งานที่แตกต่างไปจากฟันธรรมชาติ สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ทุกชนิด
อย่างไรก็ตาม รากเทียมไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคนที่สูญเสียฟันธรรมชาติ ทันตแพทย์จะทำการวิเคราะห์ว่าท่านเหมาะสมกับการใส่รากเทียมหรือไม่ ด้วยการซักประวัติ ตรวจในช่องปาก พิมพ์ปากเพื่อนำแบบจำลองฟัน และเอกซเรย์เพื่อดูปริมาณกระดูกว่าเหมาะสมหรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เหมาะกับการใส่รากเทียมแบ่งออกเป็น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว และปัจจัยที่เกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของกระดูกบริเวณที่จะใส่รากเทียม เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ หรือเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีพอ หรือมีกระดูกที่แคบหรือเตี้ยจนไม่สามารถทำการบูรณะให้เหมาะสมก่อนการใส่รากเทียมได้ ก็จะไม่เหมาะสมกับการใส่รากเทียม ซึ่งทันตแพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการใส่ฟันปลอมชนิดอื่น
โดยสรุป รากเทียมเป็นทางเลือกที่ดี ในบางคนที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม และไม่จำเป็นที่ฟันที่หายไปทุกซี่ต้องชดเชยด้วยการใส่รากเทียม
บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง