สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เหงือกร่น

บทความนี้ คัดลอกมากจากหนังสือ "ครบเครื่องเรื่องฟัน FUN"

จัดพิมพ์โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

เหงือกร่น

ทพญ. ดร.จันทรกร แจ่มไพบูลย์

     เหงือกร่น คือ ภาวะการสูญเสียเนื้อเยื่อเหงือกที่ปกคลุมผิวรากฟันซึ่งส่งผลทําให้เกิดการโผล่ของผิวรากฟันในช่องปาก และจะมองเห็นว่าฟันยาวเพิ่มขึ้นและมีสีเหลืองหรือสีเข้มขึ้น  นอกจากนี้ในรายที่มีเหงือกร่นระดับรุนแรงอาจพบช่องว่าง ระหว่างซี่ฟันเพิ่มขึ้น  เหงือกร่นมักพบได้บ่อยเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถพบในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวได้เช่นกัน

     เหงือกร่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแปรงฟันที่ผิดวิธี หรือแปรงแรงเกินไป หรือเป็นโรคปริทันต์อักเสบ (โรคเหงือกหรือโรครํามะนาด) เป็นต้น และการ มีฟันซ้อนเก เรียงตัวไม่ดีก็จะส่งเสริมให้เกิดเหงือกร่นได้

     เหงือกร่นอาจทําให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา ได้แก่ เสียวฟัน รากฟันผุ เนื่องจากผิวรากฟันโผล่ร่วมกับการสึกของฟันบริเวณนั้น  นอกจากนี้เหงือกร่นในฟันหน้าก็เป็นปัญหาด้านความสวยงามสําคัญที่ทําให้ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์ด้านปริทันต์(หมอโรคเหงือก)ด้วย  และในรายที่เหงือกร่นมากและเป็นโรคปริทันต์อักเสบก็อาจเป็นสาเหตุให้ฟันโยกและสูญเสียฟันได้

     การป้องกันเหงือกร่นสามารถทําได้โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี โดยใช้แปรงขนาดเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงอ่อนนุ่ม แปรงอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้เครื่องมือทำความสะอาดซอกฟัน เช่น ไหมขัดฟัน การพบทันตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพปากอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันโรคปริทันต์ได้ และเป็นการป้องกันการเกิด เหงือกร่น ทั้งยังช่วยควบคุมปัญหาเหงือกร่นก่อนที่จะเป็นรุนแรงได้

     ถ้าเกิดเหงือกร่นแล้วจะทําอย่างไรบ้าง?

     ก่อนอื่นต้องขอทําความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า ในกรณีที่เกิดเหงือกร่นแล้ว เหงือกจะไม่สามารถงอกกลับมาปิดผิวฟันได้เอง และมีแนวโน้มที่จะร่นมากขึ้นเรื่อยๆถ้ายังไม่สามารถกําจัดสาเหตุได้ ดังนั้นก่อนที่จะแก้ไขเหงือกร่น ทันตแพทย์ต้องหาและกําจัดสาเหตุ รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการทําความสะอาดในช่องปากของ ผู้ป่วยให้ถูกต้องก่อน แล้วจึงทําการแก้ไขปิดผิวรากฟันโดยการปลูกเหงือกต่อไป

     การปลูกเหงือกอาจทําได้หลายวิธี เช่น ใช้ชิ้นเนื้อเยื่อจากเพดานปากของ ผู้ป่วย ใช้เหงือกข้างเคียงของบริเวณที่มีเหงือกร่น หรืออาจใช้เนื้อเยื่อผิวหนังที่ได้รับ บริจาคมาผ่านกระบวนการทําให้ปราศจากเซลล์ เป็นต้น โดยวางเนื้อเยื่อนี้ไปปิด บริเวณที่มีเหงือกร่น ซึ่งการแก้ไขเหงือกร่น นอกจากจะปิดบริเวณรากฟันที่โผล่เพื่อให้เหงือกซี่นั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับพันข้างเคียงแล้ว ยังมีส่วนช่วยป้องกันการร่นของเหงือกที่จะเกิดขึ้นใหม่ด้วย

     อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านควรเข้าใจว่าการปิดเหงือกร่นนั้นเป็นงานศัลยกรรมซึ่งอาจมีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ปวด บวม มีเลือดออก เป็นต้น ป้องกันไม่ให้เกิดเหงือกร่นน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าที่จะต้องมาแก้ไขภายหลัง

    ในฐานะหมอโรคเหงือก ขอฝากให้ท่านผู้อ่านคอยสํารวจตนเองและพบ ทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อว่าในกรณีที่มีปัญหาในช่องปาก หรือมีเหงือกร่นก็สามารถที่ป้องกันไม่ให้ลุกลาม และการให้การรักษาตั้งแต่เล ก็จะทําให้การรักษาได้ผลดีด้วย เพียงเท่านี้ท่านผู้อ่านก็จะมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ดี และดูอ่อนวัย เหงือกไม่ร่นด้วย

 

 

บ้านทันตแพทย์คลินิก,ทำฟัน,จัดฟัน,ฟอกสีฟัน,รักษารากฟัน,รากฟันเทียม,รากเทียม,ครอบฟัน,ใส่ฟันปลอม,วีเนีย,รักษาฟันหน้าห่าง,ผ่าฟันคุด,ฟันผุ,แปรงแห้ง,เหงือกร่น

Tags : เหงือกร่น

view